ข่าวสาร / บทความ


วิธีการทำงานของ หม้อน้ำ และวิธีการดูแลรักษา


Posted on August 16, 2016

วันนี้ STPW ขอหยิบยกชิ้นส่วนหนึ่งในรถยนต์ที่ขาด หรือเสียหายไม่ได้ เรียกได้ว่าหากมีเหตุผิดปรกติแล้วต้องถึงขั้นจอดพักรถ และรีบซ่อมแซมกันเลยทีเดียว นั้นคือ หม้อน้ำ

ซึ่งทางทีมงานคิดว่าหลายๆ คนคงอยากรู้เกี่ยวกับการทำงานของหม้อน้ำว่าทำงานกันอย่างไร และช่วยอะไรกับรถของเราบ้าง วันนี้มีคำตอบพร้อมภาพประกอบมาให้ชมกันครับ

หม้อน้ำ คือ อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน จากน้ำที่ไหลมาจากโพรงผนังเสื้อสูบ โดยจะเข้ามาสู่หม้อน้ำทางด้านบน จากนั้นน้ำดังกล่าวไหลลงมาตามท่อน้ำในหม้อน้ำ ท่อน้ำเหล่านี้ จะเชื่อมติดกับครีบระบายความร้อน (รังผึ้ง) ซึ่งทำจากโลหะที่ถ่ายเท ความร้อนได้รวดเร็ว เมื่อน้ำที่มีอุณหภูมิสูงเหล่านี้ เคลื่อนตัวจากด้านบน ลงสู่ด้านล่าง ก็จะถ่ายเทความร้อนออกไป ให้กับครีบระบายความร้อนดังกล่าว ขณะเดียวกัน พัดลมหม้อน้ำ (Fan) ก็จะทำการหมุน เพื่อดูดอากาศที่อยู่ด้านหน้าหม้อน้ำ ผ่านครีบระบายความร้อนหม้อน้ำ ออกมาทางด้านหลัง เป็นการแลกเปลี่ยนความร้อน ไปเป็นอากาศ 

เมื่อน้ำที่มีอุณหภูมิสูง ไหลลงสู่ด้านล่าง อุณหภูมิ ก็จะลดลงมาตามลำดับ บริเวณด้านล่างหม้อน้ำ จะมีท่อยางหม้อน้ำ ต่อไปสู่ทางเข้าผนังเสื้อสูบอีกที ทำให้น้ำที่มีอยู่ในระบบ ไหลเวียนไปมา ระหว่างโพรงผนังห้องเครื่อง กับหม้อน้ำได้อย่างต่อเนื่อง 

 

เรามาชมวิดีโอสาธิต วิธีการทำงานของหม้อน้ำรถยนต์ ดังนี้



 

ซึ่งหาในกรณีฉุกเฉิน เกิดเหตุความร้อนขึ้นกับเครื่องยนต์ สามารถดำเนินการรับมือกับเหตุการณ์ได้ตามคลิปนี้

 

 

ในขณะที่ หม้อน้ำ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยระบายความร้อนให้กับรถยนต์ หม้อน้ำก็เป็นสินค้าที่มีความร้อนแรงอย่างยิ่งในการทำกำไรให้กับร้านอะไหล่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การกระแทกโดยตรงทำให้หม้อน้ำรถยนต์เกิดความเสียหายอีกด้วย ซึ่งเรียกว่า “รถชนหม้อน้ำแตก” ผู้ขับขี่รถยนต์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาซื้อหม้อน้ำ โดยหม้อน้ำที่มีคุณภาพนั้นจะช่วยดูดซับความร้อนสูงซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ภายในเครื่องยนต์ได้เป็นอย่างดี โดยหม้อน้ำจะทำหน้าที่ระบายความร้อนจากน้ำซึ่งดูดซับความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์อีกทีหนึ่ง

โดยปัจจุบัน หม้อน้ำ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆตามวัสดุที่ใช้ ได้ดังนี้

1. หม้อน้ำอลูมิเนียม หม้อน้ำชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในอุตสาหกรรมรถตั่งแต่ปี ค.ศ. 2001 จนถึงปัจจุบัน เพราะมีน้ำหนักเบา ต้นทุนไม่สูงมาก สามารถระบายความร้อนได้ดีกว่าหม้อน้ำที่ผลิตจากทองแดง (ผสม) สามารถหาซื้อได้ง่าย ซึ่งหม้อน้ำอลูมิเนียมนั้นจะมีสองแบบคือ หม้อน้ำอลูมิเนียมที่มีแผงรังผึ้งระบายความร้อนเป็นอลูมิเนียมและฝาด้านบนและด้านล่างเป็นพลาสติกซึ่งเป็นที่นิยมใช้มากในปัจจุบัน และอีกแบบหนึ่งคือหม้อน้ำที่เป็นอลูมิเนียมทั้งลูกคือทั้งแผงรังผึ้ง ฝาด้านบนและด้านล่างก็เป็นอลูมิเนียม (ซึ่งจะราคาแพงมากและส่วนมากจะต้องสั่งทำ) ส่วนข้อเสียคือ หม้อน้ำชนิดนี้ไม่สามารถซ่อมได้ คือหากมีการรั่วซึม หรือมีการเสียหายจะต้องทำการเปลี่ยนลูกใหม่เท่านั้น และความทนทานก็ไม่สามารถสู้หม้อน้ำที่ทำจากทองแดงได้ 

2. หม้อน้ำทองแดง หม้อน้ำชนิดนี้เป็นหม้อน้ำที่นิยมใช้มากในสมัยหนึ่ง ซึ่งจะพบมากในรถที่เก่ากว่าปี ค.ศ. 2000 ลงมาหม้อน้ำชนิดนี้สามารถระบายความร้อนได้ดีในระดับหนึ่ง ( แต่น้อยกว่าอลูมิเนียม ) เพราะจะมีส่วนผสมของทองเหลือง และตะกั่วในการผลิตซึ่งทำให้มีความร้อนสะสมในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นหม้อน้ำที่ผลิตจากทองแดงล้วนๆ เพียงอย่างเดียวจะมีราคาแพงมากและต้องสั่งทำ ข้อดีของหม้อน้ำทองแดงทั้งแบบผสม และแบบทองแดงล้วนๆคือ หากมีการรั่วซึมหรือเสียหายจะสามารถซ่อมได้ตามร้านซ่อมหม้อน้ำทั่วไป แต่ราคาของหม้อน้ำทองแดงนั้นจะมีราคาที่สูงกว่าหม้อน้ำอลูมิเนียมและในปัจจุบันก็หาซื้อได้ยากกว่า

 

การแบ่งประเภทของหม้อน้ำตามจำนวนช่อง หรือจำนวนครีบระบายความร้อนสามารถทำได้ดังนี้
หม้อน้ำนั้นไม่ว่าจะผลิตจากอลูมิเนียมหรือทองแดงก็ตามส่วนประกอบที่ต้องมีเหมือนกันคือ ฝาหม้อน้ำบน-ล่าง ครีบระบายความร้อน ซึ่งตัวครีบระบายความร้อนนั้นเป็นส่วนสำคัญในการทำให้น้ำอยู่ในหม้อน้ำนั้นลดอุณหภูมิได้แค่ไหนก็อยู่ที่ครีบตัวนี้และ ครีบระบายความร้อนจะแบ่งออกเป็นช่อง ๆ หรือที่เราเรียกกันว่า หม้อน้ำ 1ช่อง 2ช่อง 3ช่อง 4ช่อง ตามลำดับ ยิ่งหม้อน้ำมีจำนวนช่องมากเท่าไหร่ความหนาก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น เช่น หม้อน้ำ 1 ช่องจะหนา 16 มิลลิเมตร หม้อน้ำ 2 ช่องจะหนา 26 มิลลิเมตร ตามลำดับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ยิ่งหม้อน้ำที่มีมากช่องนั้นจะระบายความร้อนได้ดีกว่าหม้อน้ำที่มีจำนวนช่องที่น้อยกว่า นั่นคือการที่หม้อน้ำที่มีจำนวนช่องมากๆ นั้นความหนาก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วยเพราะฉะนั้นพัดลมที่เป่าระบายความร้อนให้หม้อน้ำนั้นก็จะต้องมีขนาดใหญ่และมีความเร็วของลมที่พอเพียงด้วยถึงจะสัมพันธ์กันกับความร้อนที่สะสมอยู่ในหม้อน้ำ มิฉะนั้นหากหม้อน้ำใหญ่และหนาแต่พัดลมมีกำลังไม่พอ ยื่งจะทำให้ความร้อนสะสมมากยิ่งขึ้น ก็จะส่งผลให้เครื่องยนต์อุณหภูมิสูงขึ้นตามไปด้วย

แต่ถ้าหากเราเลือกใช้หม้อน้ำที่จำนวนช่องน้อยและใช้พัดลมที่มีกำลังสูงอุณหภูมิในหม้อน้ำก็จะเย็นมากซึ่งหากเราใช้งานในลักษณะนี้กับเครื่องยนต์ที่มีซีซีน้อยหรือเครื่องยนต์ขนาดเล็กก็จะทำให้เครื่องยนต์นั้นมีอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป จนทำให้เครื่องยนต์ทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพและถ้าหากเครื่องยนต์นั้นมีปริมาณซีซีที่มาก หม้อน้ำที่บางก็จะไม่สามารถรองรับจำนวนน้ำที่มีปริมาณมากตามขนาดของเครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่หรือมีซีซีมากๆได้นั่นเอง เพราะการที่เครื่องยนต์จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั้นอุณหภูมิของน้ำและเครื่องยนต์ควรอยู่ที่ 80-88 องศา เพราะฉะนั้นการเลือกเปลี่ยนหม้อน้ำนั้นจะต้องเลือกใช้หม้อน้ำที่สัมพันธ์ กับกำลังเครื่องยนต์ ซีซีรถยนต์ และขนาดกำลังพัดลมหม้อน้ำ ซึ่งโดยปกติแล้วหากเป็นรถที่เป็นแบบมาตรฐานที่ไม่ได้มีการปรับแต่งเครื่องยนต์ใดๆ วิศวกรผู้ออกแบบก็จะคำนวณมาให้อยู่แล้วในจุดนี้ เราก็แค่เปลี่ยนหม้อน้ำตามขนาดกำลังของเครื่องยนต์นั้น ๆ ก็เพียงพอแล้ว  

 

นอกจากนี้เรายังสามารถแบ่งประเภทของหม้อน้ำได้เป็นหม้อน้ำเกียร์ออโต้ และหม้อน้ำเกียร์ธรรมดาดังนี้
หลังจากที่ทราบว่าหม้อน้ำภายในรถยนต์เป็นอลูมิเนียม หรือทองแดง และมีกี่ช่องแล้ว เราควรมาดูในส่วนของระบบการทำงานของหม้อน้ำ หรือที่เรียกว่า “หม้อน้ำเกียร์ออโต้ หรือ หม้อน้ำเกียร์ธรรมดา” นั่นเอง อย่างที่ทราบกันดีพื้นฐานเครื่องยนต์นั้นมีเกียร์ 2 ประเภทได้แก่ เกียร์ออโต้ และเกียร์ธรรมดา ( เกียร์กระปุก ) ซึ่งโดยทั่วไปเกียร์ออโต้นั้นจะมีน้ำมันเกียร์คอยหล่อเลี้ยงระบบอยู่ตลอดเวลา และน้ำมันเกียร์นั้นจะต้องมีอุณหภูมิที่ไม่สูงจนเกินไป จึงต้องมีระบบระบายความร้อนให้กับน้ำมันเกียร์ ส่วนเกียร์ธรรมดานั้นไม่จำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิของน้ำมันเกียร์แต่อย่างใด ดังนั้นหน้าที่การระบายความร้อนให้น้ำมันเกียร์จึงเป็นหน้าที่ของหม้อน้ำเกียร์ออโต้เช่นกัน โดยหม้อน้ำเกียร์ออโต้นั้นจะมีแผงครีบ และท่อสำหรับทางเดินเพี่อระบายความร้อนให้กับน้ำมันเกียร์ ในขณะที่หม้อน้ำเกียร์ธรรมดาจะไม่มีท่อและแผงครีบระบายความร้อนให้กับน้ำมันเกียร์ ซึ่งเราจะพบได้ว่า หม้อน้ำเกียร์ออโต้นั้นจะมีราคาสูงกว่าหม้อน้ำเกียร์ธรรมดา ทั้งนี้ทีมงาน STPW ของเราพบว่าหากมีความจำเป็นจริงๆ รถยนต์เกียร์ธรรมดาสามารถใส่หม้อน้ำของเกียร์ออโต้ได้ แต่รถที่มีเกียร์ออโต้นั้น จะไม่สามารถใส่หม้อน้ำที่เป็นเกียร์ธรรมดาได้

 

ในส่วนสุดท้ายเราขอนำเสนอวิธีการดูแลรักษาหม้อน้ำให้มีอายุการใช้งานยาวนาน สิ่งที่ทำให้หม้อน้ำเสียได้แก่
คราบสกปรก เศษผงต่าง ๆ ที่ทำให้อุดตัน เช่น สนิม แต่หากเรารู้จักพื้นฐานของระบบเครื่องยนต์และระบบวนของน้ำในเครื่องยนต์ จะพบว่าระบบวนน้ำของเครื่องยนต์นั้นเป็นระบบที่เรียกว่าปิด ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วโอกาสที่ ออกซิเจน (O2) จะไปทำปฏิกิริยากับเหล็กหรือส่วนประกอบของเครื่องยนต์ในระบบวนน้ำจนทำให้เกิดสนิมนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นการซื้อน้ำยาหม้อน้ำมาเติมนั้นไม่ได้ช่วยในการป้องกันสนิมแต่อย่างใด แต่น้ำยาหม้อน้ำอาจมีส่วนช่วยในการลดอุณหภูมิของน้ำในหม้อน้ำ หรือเพิ่มจุดเดือด กล่าวคือการเติมน้ำยาหม้อน้ำเป็นการทำให้น้ำในหม้อน้ำนั้นมีจุดเดือดในอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั่นเอง แต่ถ้าระบบการทำงานของเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพที่เพียงพอแล้วน้ำยาหม้อน้ำก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ สำหรับหม้อน้ำ เพียงแค่ดูแลเครื่องยนต์ให้สมบูรณ์ พัดลมระบายความร้อนมีกำลังเพียงพอ วาล์วน้ำเปิดและปิดตรงตามที่ตั้งไว้ และใช้น้ำสะอาดในการเติมลงในหม้อน้ำเพื่อป้องกันคราบสกปรก และตะใคร่น้ำ รวมทั้งตะกอนต่าง ๆ ที่จะไปสะสมในระบบการวนน้ำ และควรเปลี่ยนน้ำในหม้อน้ำทุกๆ 20,000 กิโล แค่นี้ก็เป็นการยืดอายุการใช้งานของหม้อน้ำได้อย่างดีที่สุดแล้ว

 

ท่านสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด อะไหล่ไต้หวัน อะไหล่นำเข้า หรือ สินค้ารุ่นต่างๆ ได้กับทีมงาน STPW ที่
เบอร์ 02-951-0155 เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งมอบคุณค่าที่คุ้มค่าที่สุดให้คุณ








ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.honda.co.th/civic/#safety
การแก้ไขปัญหาความร้อนขึ้น By TOYOTA BUZZ  (Youtube)
Castrol Fleet Doctor Auto clinic1. (Youtube)

Share this article...
0
0
0

ข่าวสาร / บทความอื่นๆ

go to top